สรุปบทความ
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดำเนินโครงการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีปฐมวัย ในรูปแบบของกิจกรรมบูรณาการสหวิชาให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการสืบเสาะหาความรู้ การคิด และลงมือแก้ปัญหาด้วยประสบการณ์ตรงอย่างเหมาะสมกับวัย และเป็นไปตามหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย เหมือนอย่าง ครูพัชรา อังกูรขจร ครูชำนาญการ รร.บ้านแม่ละเมา ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นวิทยากรแกนนำของ สสวท.ในการขยายผลอบรมครูในท้องถิ่น ได้นำแนวทางจาก สสวท.ไปจัดกิจกรรม “เด็กอนุบาลเรียนรู้วิทย์แบบบูรณาการจากการล่องแก่ง” ได้อย่างน่าสนใจ
ครูพัชรา เล่าว่า ได้รับการอบรมจาก สสวท. ไปขยายผลสู่พี่เลี้ยง และครูฝึกปฏิบัติการสอน รวมทั้งจัดอบรมให้ผู้ปกครองเรื่องการจัดประสบการณ์บูรณาการวิทยาศาสตร์ปฐมวัย หลังจากนั้นได้วางแผนการดำเนินงานร่วมกันในการกำหนดหน่วยการเรียนรู้และกำหนดตารางการปฏิบัติงานของพ่อครู แม่ครู
เมื่อวางแผนแล้วก็ไปสู่ขั้นตอนของการลงมือปฏิบัติ ซึ่งทั้งครูพัชรา ครูพี่เลี้ยง ครูปฏิบัติการฝึกการสอน พ่อครู แม่ครู ได้ช่วยกันจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยเน้นการคิดวิเคราะห์ ผ่านกระบวนการสืบเสาะ 4 ขั้นตอน และมีการนำผลการประเมินมาแก้ไขพัฒนา ทำให้ทุกฝ่ายรับรู้ เข้าใจ ร่วมกันวางแผนพัฒนาสำหรับปีต่อไป
การล่องแก่งแม่ละเมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในท้องถิ่นและเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน ครูจึงนำนักเรียนชั้นอนุบาล 2 ไปศึกษาการล่องแก่ง ณ หมอกฟ้าใสรีสอร์ท ที่ให้การสนับสนุนสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ โดยมีการจัดกิจกรรมในลักษณะของฐานการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วิธีการล่องแก่งให้ปลอดภัย และรู้จักอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันอันตรายในการล่องแก่ง
จุดเด่นของกิจกรรมนี้ คือ มีผู้ปกครองจากหลายสาขาอาชีพ และเจ้าหน้าที่รีสอร์ทมาร่วมเป็น “พ่อครู แม่ครู” ร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ นอกจากความสนุกสนานที่ได้แล้ว เด็กยังได้พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เช่น การตั้งคำถาม การคาดคะเน การสังเกต และลงความคิดเห็น ทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการสืบเสาะหาความรู้อย่างง่าย ๆ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม และที่สำคัญคือได้ตระหนักถึงคุณค่าของแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เกิดจิตสำนึกอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนเอาไว้ให้ยั่งยืน
“การพัฒนาเด็กที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์และการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ควรให้เด็กได้ลงมือทำผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า โดยบูรณาการผ่านการเล่นอย่างต่อเนื่อง เด็กจะสนใจเรียนรู้อย่างมีความสุขเมื่อได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ ๆ แต่ทั้งนี้การพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ได้ผลดีควรได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง เพราะเด็กปฐมวัยเรียนรู้ตลอดเวลาทั้งในบ้านและที่โรงเรียน ผู้ปกครองจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยเป็นพ่อครู แม่ครูที่บ้านด้วย” คุณครูพัชรา กล่าว
สินีนาฎ ทาบึงกาฬ
Credit : http://www.dailynews.co.th/education/191782
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น